ภาพยนตร์ไทยก่อนฟองสบู่แตก (1)

0 Comments

ภาพยนตร์

หากพูดถึงงวงการภาพยนตร์ไทยซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ยุคหนึ่งที่ภาพยนตร์ไทยรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีผลงานดีๆออกมาสู่สาธารณชนเป็นจำนวนมาก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นช่วงยุคก่อนฟองสบู่ในไทยแตก หรือก่อนปี 2540 เป็นต้นมา เนื่องด้วยการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีทางด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ การเข้ามาถึงของกล้องถ่ายทำที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น บวกกับภาวะทุนที่เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก เกิดการลงทุนในทุกๆภาคส่วนหลากหลายด้าน ซึ่งส่วนหนึ่งในนั้นคือการลงทุนในด้านภาพยนตร์หรือสื่อให้ความบันเทิงด้วย ส่งผลให้ทุนและเทคโลโนยีที่ก้าวขึ้นมาพร้อมๆกันในช่วงนี้เจริญเติบโตรุกหน้า ขยายขีดความสามารถในการผลิตสื่อและงานภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลให้ในยุคนนี้เกิดมรดกทางภาพยนตร์หลงเหลือเป็นหลักฐานของยุคสมัยจำนวนมากด้วยเช่นกัน 

สิ่งหนึ่งที่จะสะท้อนความเฟื่องฟูดังกล่าวนั้นได้ ก็สะท้อนผ่านตัวภาพยนตร์ที่ถูกผลิตขึ้นในยุคนั้นๆ ในวันนี้เราจึงมานำเสนอภาพยนตร์ในยุคก่อนฟองสบู่แตกให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อจะได้สะท้อนเป็นภาพไปยังสังคมในช่วงเวลานั้นว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างกับสังคมไทยในยุคนั้นผ่านตัวภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ยกมานำเสนอในที่นี้คือเรื่อง ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ซึ่งออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ.2536 นับจากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ก็รวมๆ 20-25 ปีแล้วที่ภาพยนตร์เรื่องออกฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรก เนื้อหาของภาพยนตร์ได้นำเสนอในแนวตลกร้าย เล่าถึงที่มาที่ไปของตัวละครอย่างมานพ มนุษย์ออฟฟิศที่ได้รับคำเตือนจากยมทูตผู้มาเยือนเขาถึงที่พักว่าเขากำลังจะตายภายในบ่าย 2 ของวันพรุ่งนี้ พอมานพทราบดังนั้น มานพและเพื่อนของเขาก็พยายามจะแก้ไขสิ่งต่างๆที่ตนไม่เคยคิดจะแก้ไขหรือคิดจะทำมาก่อน เช่น การออกเที่ยวกลางคืน การแฉว่าผู้จัดการบริษัทที่ตนทำงานอยู่นั้นกำลังโกงบริษัทตน เป็นต้น จุดจบและปลายทางเขากลับทราบว่าทั้งหมดที่ทำมา เขายังไม่ตายและจะมีชีวิตอยู่ได้ต่อไป ทำให้เหมือนกับว่าสิ่งที่เขาได้ทำไปกลายเป็น “ลูกบ้าเที่ยวสุดท้าย” ทั้งที่จริงๆยังมาไม่ถึง

จากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนภาพมุมกลับของสังคมในยุคนั้นที่การทำงานในออฟฟิศกำลังเฟื่องฟู เกิดบริษัทภาคเอกชนต่างๆแข่งขันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคงเป็นที่ทราบกันดีว่าชีวิตมนุษย์ออฟฟิศนั้นเป็นวังวนที่น่าเบื่อขนาดไหน ภาพยนตร์ที่กระตุ้นให้คนดูชุกคิดถึง “ลูกบ้า” ในชีวิตที่จำเจจึงเป็นภาพยนตร์แนวตลกร้ายที่หลอกล่อกับชีวิตของผู้คนในยุคนั้นได้อย่างดี

Tags: